เป็นงบที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของบริษัท ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยจะแสดงถึงสินทรัพย์ของบริษัท หนี้สิน และส่วนที่เป็นของเจ้าของ
เราสามารถดูความแข็งแกร่ง และความมั่นคงของบริษัทนั้นๆได้ จากในงบดุลนี่แหละ
โดยที่ทั้งสองข้าง จะเท่ากันเสมอ จึงถูกเรียกว่างบดุล เพราะสองข้างนั้นดุลกัน
สิ่งที่ควรให้ความสนใจในงบนี้
สามารถดูโดยเทียบกับส่วนที่เป็นเจ้าของและกำไรต่อปีของบริษัท
ส่วนที่เป็นเจ้าของ > หนี้ ยิ่งมากกว่าเท่าไร ก็จะแปลว่าความเสี่ยงต่ำ
หนี้ > ส่วนที่เป็นเจ้า ยิ่งหนี้มากกว่าเท่าไร ก็จะแปลว่าความเสี่ยงยิ่งสูง
ตัวอย่างของงบบริษัท ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน
จะเห็นว่าบริษัท ที่ส่วนที่เป็นเจ้าของมากกว่าหนี้เยอะมาก กำไรเพียงปีเดียวก็สามารถปิดหนี้ได้หมดเลย
ซึ่งการมีหนี้น้อย ยังบ่งบอกถึงความสามารถในการขยายกิจการด้วย เพราะจะมีความสามารถในการกู้มาลงทุน ขยายกิจการได้ง่ายกว่า ธนาคารจะปล่อยกู้ได้ง่ายกว่า วงเงินเยอะกว่า ถ้ากิจการมีหนี้น้อย
จากข้อแรกเราจะเห็นว่า เราไม่ควรเลือกกิจการที่หนี้สูง แต่ก็มีข้อยกเว้น ถ้าหนี้ที่สูงๆตรงนั้น เป็นเจ้าหนี้การค้า
เจ้าหนี้การค้า คือหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เป็นการนำสินค้าของเขามาขายก่อน ติดเครดิตไว้ แล้วค่อยนำเงินไปจ่ายให้เขาภายหลัง ถ้าหนี้ส่วนนี้เยอะจะบ่งบอกได้ว่าบริษัทมีอำนาจในการต่อรองสูง และมีเครดิตที่ดี
มาดูตัวอย่างบริษัท HMPRO ถ้ามองเผินๆจะเห็นว่า หนี้ 39,017.99 > ส่วนของผู้ถือหุ้น 25,855.82 เกือบเท่าตัวเลย ซึ่งแปลว่าเสี่ยงมาก
แต่ถ้าเข้าไปดูจริงๆ หนี้จำนวนมากเป็นเจ้าหนี้การค้า
ซึ่งถ้าหักลบส่วนนี้ออกไป หนี้ที่เสียดอกเบี้ยจะเหลือ 23367.97 ซึ่งน้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่ดูหนี้สูงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมาดูที่เจ้าหนี้การค้าด้วย
จากรูปเราจะเห็นว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ มูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว ยังมีค่าเท่าเดิมเสมอ แบบนี้คือดี
มูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว คือจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นใส่เงินเข้ามาในบริษัท
สมมุติตอนเปิดกิจการเลย ผู้ถือหุ้นใส่เงินเข้ามา 100 ล้าน มูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว ก็จะมีค่า 100 ล้าน
ถ้าระหว่างดำเนินกิจการไม่มีการเพิ่มทุนเลย ตัวเลขนี้ก็จะยังเท่าเดิม
และถ้าส่วนของผู้ถือหุ้นโตขึ้นโดยที่เลขนี้เท่าเดิม แปลว่ากิจการสามารถเติบโตได้ด้วยตัวมันเอง
ไม่ต้องเติมเงินเข้าไปเพิ่มให้มันโต
กิจการที่ทำกำไร มีผลการดำเนินงานที่ดีจะมี "กำไรสสมโตขึ้นเรื่อยๆ" บริษัทไหนจะปันผลได้หรือไม่ ก็ขึ้นกับกำไรสะสมนี่แหละ "บริษัทที่มีขาดทุนสะสม จะไม่สามารถจ่ายปันผลได้"
ถ้าหากงบเฉพากิจการมีกำไรสะสม แม้ว่างบการเงินรวมจะขาดทุน แต่ก็สามารถจ่ายปันผลได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้างบการเงินรวมมีกำไร แต่งบเฉพาะกิจการมีขาดทุนสะสม ก็ไม่สามารถจ่ายปันผลได้
เวลาที่บริษัทต้องการจะตกแต่งงบการเงินให้ดูดี การจะเพิ่มรายได้ปลอมๆจากลูกหนี้การค้าเป็นทางเลือกนึงที่ทำได้ง่ายที่สุด
ในการทำธุรกิจเวลาขายสินค้าได้ จะมีแบบที่เก็บเงินได้เลย กับแบบที่เป็นสินเชื่อ คือยังไม่ได้ชำระเงินทันที (ติดเงินไว้ก่อน) ซึ่งตรงนี้จะบันทึกไว้เป็น ลูกหนี้การค้า และในทางบัญชีเงินส่วนนี้จะถูกบันทึกว่าเป็นรายได้แล้วด้วย
เพราะฉะนั้นบริษัทที่ต้องการจะตกแต่งรายได้ให้ดูดี ก็จะไปหาลูกหนี้ปลอมๆ ตั้งขึ้นมาเลยว่ามีคนซื้อเท่านี้ๆ ทำให้รายได้ดูดี แต่จริงๆแล้วไม่ได้มีคนซื้อจริงๆ
วิธีวิเคราะห์ส่วนนี้ คือการเทียบกับงวดก่อนๆ เช่น
ถ้าปี 2565 บริษัทมีรายได้ 100 ล้าน มีลูกหนี้การค้าอยู่ 10 ล้าน (10%)
ถ้าปี 2566 บริษัทมีรายได้ 200 ล้าน ลูกหนี้การค้าก็ควรจะอยู่ ในตัวเลขประมาณ 20 ล้านบวกลบ
ถ้ามันโดดมากๆมาเป็น 100 ล้าน เราก็ต้องเริ่มเอะใจ และหาสาเหตุแล้ว
ซึ่งตรงนี้ เราต้องไปอ่านในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ว่าเขาให้เหตุผลว่าอะไร แล้วเราจะเชื่อหรือไม่ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอา
© 2024 Investich. All Rights Reserved.